๒๔/๙/๕๐

สรุปกิจกรรม "ครอบครัวคุยกัน" ครั้งที่ ๑

สรุปการประชุม “ครอบครัวคุยกัน” (มัธยม ๒) ครั้งที่ ๑
ในวันศุกร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๐ เวลา ๑๕.๓๐ – ๑๘.๑๐ น.

ผู้เข้าร่วมประชุม : จำนวนผู้ปกครอง ๒๗ ครอบครัว (ดูรายชื่อในเอกสารายชื่อ และ email ที่แนบท้าย) ตัวแทนครู ๓ คน คือ
ครูอัจฉรา สมบูรณ์ (ผู้ช่วยครูใหญ่มัธยม ฝ่ายบริหาร)
ครูสุชาดา ทับมรินทร์ (สอนวิชามานุษย์และสังคมศึกษา)
ครูเทิดไท ไทยเที่ยงธรรม (สอนวิชาภาษาอังกฤษ)

ผู้นำการประชุม : คุณรุ่งโรจน์ จตุรภุชพรพงศ์ (คุณพ่อ วีไอพี) และคุณชูชื่น เจตจำรัส (คุณแม่กล้า)

เอกสารที่แจก : เบอร์โทรศัพท์ และ email ของผู้ปกครอง (ไม่ครบทุกคน)

รูปแบบการประชุม : แบ่งกลุ่มผู้ปกครองออกเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มละ ประมาณ ๑๐ คน มีผู้ปกครองทำหน้าที่ผู้นำกลุ่ม ๑ คน และมีคุณครูประจำ กลุ่ม ๑ คน พูดคุยกันในกลุ่มและส่งตัวแทนมาสรุปให้กลุ่มใหญ่ฟัง

กลุ่มที่ ๑ คุณเล็ก (คุณแม่คิต)
เรามองว่าการมาคุยอย่างนี้มันเหมือนวนในอ่าง ไม่สามารถแก้ปัญหาให้เราได้ ปัญหาที่เกิดเพราะระบบ ในระดับชั้นประถมเราเรียนแบบผ่านกิจกรรมเป็นส่วนใหญ่ เช่น นักเรียนต้องเรียนให้ครบตั้งแต่บทที่ ๑ – ๑๐ แต่เขาเรียนไม่ครบอาจจะได้เพียง ๑ – ๗ เท่านั้น เมื่อขึ้น ม.๑ ฐานไม่แน่น เด็กไม่มีทักษะในการทำแบบฝึกหัด การแก้โจทย์ ซึ่งตอนอยู่ประถมลูกเราเป็นรุ่นแรกที่เรียนวิชาคณิตศาสตร์ใช้หนังสือภาษาอังกฤษ
และการเรียนวิชาอื่นก็ไม่แตกฉานเพราะที่นี้จัดระบบการเรียนแบบเวียนเรียนวิชาหลัก ภายใน ๓ เทอม คือ ในชั้นหนึ่งมี ๓ ห้อง ห้อง ๑ เรียนสังคม ห้อง ๒ เรียนภาษาไทย ห้อง ๓ เรียนวิทยาศาสตร์ พอเปลี่ยนเทอมแต่ละห้องก็ต้องเปลี่ยนวิชาหลัก ทำให้ไม่ได้ย่อยรายละเอียด
ตอนนี้ครูก็มีน้อย ต้องสอนเยอะ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วครูชั้น ม.๒ ออกภาคสนาม เหลือเด็กห้อง เคมี ต้องเรียนเคมีทั้งวันเขากลับบ้านรู้สึกเพลียมากเพราะทั้งวันต้องเรียนแต่วิชาเคมี ถ้าเด็กคนไหนรับไม่ทันเขาก็หลุดเลย ตอนนี้พ่อแม่ได้คุยกันในกลุ่มว่าจะให้เด็กไปเรียนพิเศษในวิชา คณิตศาสตร์ (คุณรุ่งโรจน์ได้สอบถามในที่ประชุมว่าขณะนี้มีกี่ครอบครัวที่ไม่พาลูกไปเรียนพิเศษ มีทั้งหมด ๗ ครอบครัวแต่กำลังจะให้เรียนอีก ๑ ครอบครัว)
ปัญหาที่กลุ่มรู้สึกเป็นห่วง
๑. การจะส่งลูกไปเรียนพิเศษในวิชาคณิตศาสตร์ ไม่รู้ว่าจะเป็นทางแก้ที่ตรงจุดหรือเปล่า มองปัญหาที่เด็กตกว่าเพราะพื้นฐานของเด็กไม่แน่นมาจากประถม ตอนนี้พ่อแม่รู้สึกเหนื่อยกับเรื่องนี้มาก
๒. ระบบการส่งงาน – การบ้าน ครูอาจมองว่าให้เด็กมาส่งเองแต่ครูอาจไม่ได้ช่วยตาม ซึ่งผู้ปกครองเข้าใจครูว่าทำงานเยอะมาก อยากให้ช่วยมองปัญหาเรื่องนี้ด้วย ขอให้ครูช่วยให้เด็กมีพื้นฐานในวิชาให้แน่นกว่านี้เพื่อที่เขาจะสามารถนำไปสอบที่อื่นได้
๓. การที่จัดกิจกรรมครอบครัวคุยกัน หรือ การพูดคุยสรุปกับครูประจำภาคเรียน ควรจัดตั้งแต่ช่วงต้นเทอม จะได้รับทราบข้อมูลของลูก และช่วยเขาได้
คำถามจากผู้ปกครอง : ชั่วโมงสอนของครูแต่ละท่านค่อนข้างเยอะใช่หรือไม่
ครูสุชาดา (ครูโอ๋) วิชาคณิตศาสตร์ในช่วงต้นเทอมครูจะสอนเยอะ ๒๐ คาบ / สัปดาห์ เพราะสอนทั้ง ม.๒ – ม.๓ แต่ตอนนี้มีครูใหม่มาช่วยใน ม.๓ ทำให้สอนน้อยลง ในเรื่องการที่ผู้ปกครองเป็นห่วงเด็กไม่ส่งงานนั้น ใน ม.๒/๑ ตนได้สอบถามนักเรียนและได้คำตอบว่า เขาไม่เข้าใจในห้องเรียนแล้วเมื่อจบคาบไม่มีการออกมาถามครูต่อ ที่สำคัญตอนนี้เด็กติดเกม หนังสือการ์ตูน เขาไม่สามารถควบคุมตัวเองให้ทำการบ้านได้ แต่นักเรียนห้องอื่นไม่แน่ใจว่าเกิดจากปัญหานี้หรือเปล่า

กลุ่มที่ ๒ คุณกตัญญู (คุณแม่มามา)
ในกลุ่มส่วนใหญ่จะสอบถามครูเต็กว่าจะให้ผู้ปกครองช่วยอะไรได้บ้างในสภาพปัจจุบัน ซึ่งครูเต็กบอกว่าเด็ก ม.๒ รุ่นนี้มีภาวะความเป็นเด็กสูง ทั้งพฤติกรรม และพื้นฐานวิชา คือ นิสัยเขาไม่ทำงานเต็มความสามารถเลือกที่จะทำแบบพอผ่าน เขาจะขาดเรื่องการสื่อสาร จะถามเพียงว่าจะสอบเมื่อไหร่ สอบอะไร แต่ไม่ได้ให้ครูอธิบายเนื้อหาวิชา เด็กจะมี ๓ กลุ่ม (เรียงจากน้อยไปมาก) คือ กลุ่มเรียนเก่ง กลุ่มเรียนปานกลาง และกลุ่มสุดท้ายเรียนอ่อนมีจำนวนมาก
ตอนนี้สิ่งที่พ่อแม่กังวลคือ เด็กสอบไม่ผ่านเยอะขึ้น ทำให้พ่อแม่อยากให้เด็กไปเรียนพิเศษมากขึ้น เด็กสอบไม่ผ่านพ่อแม่วิตกกังวล เด็กก็วิตกกังวล ในช่วงแรกพ่อแม่คิดว่าจะสอนเด็กเองก่อน ถ้าสอนไม่ไหวก็จะไปหาคนอื่นมาสอนพิเศษ แต่สิ่งที่กังวลหลังจากสอนพิเศษแล้วเด็กเรียนดีขึ้น คุณครูจะระงับการเรียนรู้ในห้องเรียนเพราะคิดว่าเด็กรู้เรื่องดีแล้ว แต่ภาวะการเรียนรู้ไม่เกิดจริง ๆ ในเด็กที่ไปเรียนพิเศษ ส่วนเด็กที่ไม่ไปเรียนก็อาจจะตามไม่ทันเพื่อนพ่อแม่ก็ต้องให้เด็กไปเรียนพิเศษเพิ่มขึ้นด้วย
คุณแม่มามา ได้เล่าประสบการณ์ลูกของตนเองว่า ได้พาเขาไปเรียนพิเศษบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าไม่ไว้วางใจโรงเรียน ตอนแรก ๆ ตนให้ลูกไปเรียนพิเศษวิชา ศิลปะ รำ กีฬา หาครูมาฝึกให้เขา ในวิชาดนตรียังไม่ได้ให้เรียนพิเศษเพราะครูที่โรงเรียนดูแลใกล้ชิด ลูกคนโตเป็นผู้หญิง เขามีความต้องการมากในการหาความรู้เพิ่มเติม โรงเรียนสอนให้เขาใฝ่รู้ ทำให้เขาอยากมีความรู้เพิ่มขึ้น ที่บ้านไม่ได้ไปกดดันให้เขาเรียน จากภาวะไม่กดดันแต่ตัวเขาต้องการเรียนเอง จริง ๆ ลูกสาวขอมาตั้งแต่ ประถม ๖ เข้าม.๑ เราก็ยังไม่ให้เรียนพิเศษ จนขึ้น ม.๒ จึงยอมให้เรียนพิเศษ ตัวเขาเองก็เรียนผ่านทุกวิชา ตอนเขามาขอเรียนพิเศษแรก ๆ ตนตกใจนึกว่าเขาเรียนตก ช่วงแรกแม่จะไปรับ – ส่ง เรียนได้สักระยะให้เขาเดินทางเอง ลูกชายที่เรียน ม.๒ เขาเพียงพอแล้วไม่ต้องการเรียนพิเศษ แต่ช่วงหลัง ๆ เห็นพี่สาวไปเรียนพิเศษ และได้เดินทางไปเรียนเอง เขาก็อยากออกไปผจญภัยแบบพี่สาวบ้าง อยากเดินทางเองแบบพี่ ยังไม่ได้ให้ลูกชายไปเรียนพิเศษเพราะกลัวว่าเขาอยากเรียนตามพี่มากกว่าอยากได้ความรู้เพิ่มจริง ๆ ลูกชายไม่เคยว่าโรงเรียนไม่ดี จะรักที่นี้มาก โรงเรียนรุ่งอรุณสามารถเอามาเป็นเงื่อนไขกับเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความประพฤติไม่ดี คะแนนไม่ดี เราจะบอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้จะไม่ให้เรียนที่รุ่งอรุณ เขาก็จะรีบปรับปรุงตัวเองขึ้นมา
อยากจะฝากพ่อ – แม่ทุกคนว่า ถ้าเราจะให้ลูกเรียนพิเศษ อย่าให้นักเรียนลืมฐานความมีพระคุณของโรงเรียนนี้ เด็กใช้เวลามากมายในการเรียนพิเศษ แต่การบ้านที่คุณครูมอบหมายเขาต้องไม่ลืม
คุณพ่อ – คุณแม่ ในที่ประชุมเสนอว่า อยากให้คุณครูช่วยสอนพิเศษเพิ่มเติมให้เด็กบ้างได้ไหม อาจจะเป็นในช่วงเย็น
ครูเทิดไท (ครูเต็ก) การจะสอนพิเศษเพิ่มให้เด็กต้องขึ้นอยู่กับตัวเด็กเองว่าเขาพร้อมที่จะเรียนหรือไม่ ถ้าพ่อ – แม่ต้องการแต่เด็กไม่ต้องการก็ไม่เห็นผล เด็กที่เก่งในชั้นเรียนครูได้ให้แบบฝึกหัดที่ยากขึ้นไป และอยากให้เด็กที่เก่งเป็นคนสอนเพื่อนที่เรียนอ่อน จะเป็นการตอกย้ำความรู้ของเด็กเก่ง จะช่วยลดระยะห่างระหว่างคนเก่ง กับคนไม่เก่งแคบลงไปด้วย ถ้ามีกิจกรรมให้ตอบคำถามในห้อง คนเก่งก็จะเป็นผู้ผูกขาดในการตอบ เด็กเก่งมักจะเกิดจากความสนใจของเด็กเอง ความพร้อมจากทางครอบครัวที่ให้การสนับสนุนต่อเนื่อง ตนไม่เคยเจอแบบอยู่เฉย ๆ ก็เก่ง เด็กเก่งชั้นนี้มักจะมีคำถามมาถามตลอด เขาอยากเอาทุกอย่างที่ครูรู้ออกมาให้หมด แต่มีจำนวนไม่มาก ในบางกรณีผมก็แนะนำให้ไปเรียน Summer ที่ต่างประเทศ แต่นั้นต้องดูความพร้อมของทุกส่วน ทั้งครอบครัว และตัวเด็ก จะแนะนำในกลุ่มเด็กตก เพราะเขาไม่เห็นว่าภาษามีความจำเป็นกับเขาอย่างไรต้องส่งไปที่ ๆ เขาต้องใช้ภาษานี้เท่านั้น นี้อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยเขาแต่ก็ไม่รับประกันว่าจะได้ผลกับทุกคน
คุณรุ่งโรจน์ ลูก ๆ ของตนไป Summer ที่เมืองจีนมา ก่อนไปให้ไปเรียนภาษาจีนวันอาทิตย์ เขาก็ไม่อยากเรียนแต่เมื่อกลับมาจาก Summer เขามีความกระตือรือร้นมากขึ้น
ในวิชาคณิตศาสตร์นักเรียนต้องฝึกทำบ่อย ๆ จะมีความแม่นยำขึ้น ถ้าคุณครูได้จัดให้เด็กได้เรียนเพิ่มเติมในช่วงเช้า หรือเย็น เฉพาะเด็กที่เรียนไม่ทันเพื่อน คิดว่าเด็กกลุ่มนี้จะเรียนดีขึ้นจากเดิม และอาจจะไม่ต้องไปเรียนพิเศษข้างนอกได้หรือไม่
คุณวีระศักดิ์ (คุณพ่อโอ) จากการที่ได้ดูสถิติเด็กตกคณิตศาสตร์ ใน ม.๒ เด็กตกเยอะมาก จึงอยากชวนมองย้อนว่าอาจเป็นที่การสื่อสารของครู ที่น่าจะมีปัญหาในการให้เด็กมีความเข้าใจมากขึ้น หรือว่าเป็นที่ระบบการวัดผลในรุ่งอรุณถ้าเทียบกับโรงเรียนข้างนอก เรามีมาตรฐานสูงกว่าเขาหรือเปล่า จึงอยากให้ลองมองใน ๒ ข้อนี้ด้วย เพราะอยากจะหาปัญหาที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ จะได้รู้วิธีแก้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ต้องแก้ด้วยการไปเรียนพิเศษแต่ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น
คุณชูชื่น (คุณแม่กล้า) จากการที่ได้สอบถามกับครูหนึ่งเรื่องแนวข้อสอบ ครูหนึ่งบอกว่าข้อสอบไม่ได้ยากจากเกณฑ์มาตรฐานของ ม.๒ ในข้อสอบที่ผ่านมา มี ๑ ข้อถือเป็นโจทย์ที่แจกคะแนน ๕ คะแนน แต่เด็กก็ยังทำไม่ได้
คุณรุ่งโรจน์ อยากเรียนถามคุณครูว่า เป็นเพราะเด็กเราไม่ฉลาด หรือ เขาได้ทำแบบฝึกหัดน้อยไป
ครูเทิดไท (ครูเต็ก) สิ่งที่คุณครูพบคือเด็กกลุ่มที่ตกวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนใหญ่จะตกภาษาอังกฤษด้วย ตนเองก็มีข้อสอบที่แจกคะแนนเหมือนกัน ตัวข้อสอบที่ให้นักเรียนทำโจทย์จะนำมาจากแบบฝึกหัดในห้องเรียนแต่นำไปสลับข้อ ผลออกมานักเรียนทำไม่ได้ มีคนตก นักเรียนส่วนใหญ่เมื่อทำแบบฝึกหัดในห้องเรียนไปแล้วไม่มีการติดตาม ทบทวน เนื้อหา ทำให้เมื่อเห็นข้อสอบก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร


กลุ่มที่ ๓ คุณวาริ (คุณพ่อน้ำฝน)
เราเห็นปัญหาเด็กหลาย ๆ คนว่าความใส่ใจในวิชาการเรียนยังน้อยอยู่ ในกลุ่มนี้ตั้งแต่ประถมเด็กนอนเรียนมาเลย แต่พอขึ้นมัธยมการเรียนการสอนต่างกันเด็กเขาเหมือนไม่ได้ผ่านกระบวนการฝึกฝนมา ต้องยอมรับว่าประถมปัจจุบันต่างจากอดีต เมื่อนักเรียนขึ้น มัธยมต้น ควรมีการสร้างกระแสหรือความมุ่งมั่นในการเรียน ประเด็นอื่น ๆ คล้ายกับกลุ่มที่ ๑, ๒ คือ เด็กอ่อนต้องเรียนพิเศษจริง ๆ หรือ ถ้าครูสอนเพิ่มเติมให้เขาได้หรือไม่ คุณครูน่าจะมีเวลามากขึ้นเพื่อให้กับเด็กที่อ่อน เรียนไม่ทัน ไม่ค่อยเอาใจใส่ ได้อาศัยครูช่วยดูแล
จริง ๆ เราไม่อยากยกภาระให้ครูทั้งหมดแต่บางครั้งกว่าเราจะรู้ปัญหาลูกก็ปลายเทอมแล้ว ถ้าครูเห็นปัญหาของเด็กขอให้ช่วยส่งข่าวบอกผู้ปกครองด้วย
คุณประดิษฐ์ (คุณพ่อเดียร์) ควรให้เด็กได้มีการแข่งขันในการเรียนได้หรือไม่ ให้เด็กได้รู้ถึงความสำคัญในการต้องสู้ เพราะเขาคิดว่าอยู่อย่างนี้ก็อยู่ได้ ลูกสาวตนเริ่มไม่มุ่งมั่นในตนเอง เขาไม่คิดจะสู้ พ่อแม่เสริมอย่างไรก็ไม่คิดจะสู้

คุณุรุ่งโรจน์ การแข่งขันมันก็มีทั้งดีและไม่ดี แข่งขันมากไปเขาจะเห็นแก่ตัวและเครียด แต่ถ้าไม่มีเลยเขาจะไม่สู้ ส่วนการที่ผู้ปกครองอยากให้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้เร็วขึ้นนั้น กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ผู้ปกครองช่วยกันคิดจัดขึ้น ที่คิดจัดช่วงปลาย ๆ เทอมเพราะคิดว่าถ้าจัดช่วงต้นเทอมจะมีอะไรมาแลกเปลี่ยนกันหรือเปล่า จึงรอให้ผ่านไปสักระยะ ในกิจกรรมที่ผู้ปกครองจัดขึ้นนี้ โรงเรียนได้ให้การสนับสนุนเต็มที่ ครูอุ๊ได้ให้คำแนะนำเรื่องการแจกจดหมายผู้ปกครองว่า ควรแจกตอนมีการจัดประชุมผู้ปกครองประจำภาคเรียน จดหมายจะได้ถึงมือผู้ปกครองโดยตรง ถ้าฝากนักเรียนไปให้อาจไม่ถึงมือผู้ปกครอง ต่อไปคิดกันไว้ว่าจะมีการจัดกลุ่มแบบ ที่ทีมผู้ปกครอง ม.๖ ปีที่แล้ว หรือที่ ม.๔ กำลังทำกันอยู่ คือให้โทรชวนกัน โดยจะให้จัดเป็นกลุ่ม ๆ ขอผู้ปกครองที่มาในวันนี้เป็นหลักในการโทรชวนผู้ปกครองที่มีรายชื่อในกลุ่มตัวเองมาประชุม ครั้งนี้ได้คุณแม่ไก่ (แม่เบสท์) ที่ช่วยทำรายชื่อลงทะเบียน สิ่งที่จะทำต่อไปคือจะให้แม่ไก่ขอรายชื่อ – เบอร์โทรศัพท์ ผู้ปกครองจากครูเอ (เลขามัธยม) ในการจัดกลุ่มผู้ปกครองอาจจะจัดกลุ่มละ ๔-๕ คน การโทรชวนกันจะรวดเร็วขึ้น และคิดว่าโทรชวนกันเองจะมากันมากขึ้น เพราะถือว่าได้มาเจอเพื่อน
ครูอัจฉรา (ครูอุ๊) การที่พวกเรามากันวันนี้เป็นเรื่องที่ดี ได้แลกเปลี่ยนเรื่องที่กลุ้มใจ ทุกข์ใจกันอยู่ เป็นโอกาสได้ฟังกันและช่วยพากันออกจากทุกข์ ขอพูดในฐานะคนเป็นแม่ที่เคยมีประสบการณ์ที่ลูกสอบได้คะแนนไม่ดีมาก ๆ มาก่อนขอเล่าเรื่องลูกสาวตนเองจบจากโรงเรียนรุ่งอรุณ ตอนนี้เรียนมหาวิทยาลัยปี ๓ คณะอักษร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกไม่เคยเรียนพิเศษ ถ้าเรียนก็เป็นดนตรี ศิลปะ แต่ก่อนเราเป็นคนจัดตาราง ให้เรียน พอโตขึ้นเขาจัดของเขาเอง เลือกเรียนเอง ตัวเขาในมัธยมต้นเรียนคณิตศาสตร์ได้ ๑ เกือบจะตก สังคมได้ ๕๖ คะแนน จาก ๑๐๐ พละ ได้ ๑ ตอนนั้นเราก็ทุกข์ใจมาก ถ้าไปจี้ที่ครูเราก็ทำได้ แต่เราได้กลับมาคิดว่าลูกโตแล้ว การช่วยของเราควรช่วยเพื่อให้เขาช่วยตัวเองให้มากที่สุด จึงดูจากผลการประเมิน ดูว่าลูกติดขัดอะไรในวิชาที่คะแนนน้อยช่องประเมินผลบางช่องได้ ๐ ถามแล้วได้ความว่า ไม่ส่งงานครู จึงได้สอบถามกันว่าทำไมจึงไม่ส่ง แรก ๆ ก็ใช้วิธีดุ ถามจี้ตัว คาดคั้นเขามาก เขาเครียด และรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง เราจึงเลิกวิธีนี้แต่อาศัยความใกล้ชิด ชวนดู ชวนคุย แก้ไขความเข้าใจผิด ๆ และรอเวลาให้เขาแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเขาเอง อดทนรอ ๑ ปีก็ผ่านมาได้ ตนไม่สอนการบ้านลูกตั้งแต่เขาอยู่ ป.๖ ให้เขาทำของเขาเอง เด็กเราไม่ใช่ปัญญาด้อย ยกเว้นบางคนที่เขาต้องการความช่วยเหลือพิเศษแต่เราไม่ต้องไปตีตราเขา พากันแก้ไขเขาไปตามอาการ หรือปัญหาที่พบเห็นที่ห้องเรียนคุณครูผู้สอนจะช่วยเขาได้ แต่ที่บ้านผู้ปกครองก็ต้องทำเอง เห็นให้ตรงกัน อะไรที่นักเรียนต้องทำก็ต้องให้เขาทำ เราต้องฝึกให้เขามีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ตนเอง

ก่อนปิดการประชุม ได้ทิ้งคำถามต่อที่ประชุมไว้ให้ร่วมเสนอแนะ
๑. กิจกรรมค่ายครอบครัว ๒ วัน ๑ คืน เราอยากให้มีกันอีกหรือไม่
๒. เครือข่ายครอบครัวชั้น ม.๒ ยังต้องการให้มีกิจกรรมเชิญวิทยากรมาบรรยายอีกหรือไม่

จบการประชุม : เวลา ๑๘.๑๐ น.


นางอัจฉรา สมบูรณ์ ผู้ตรวจทาน
นางสาวรัชนีวรรณ เฉียวกุล ผู้บันทึกการประชุม

ไม่มีความคิดเห็น: